อานิสงส์ประจำปี

 


ประจำปี

1) ไว้พระธาตุประจำปีเกิด

2) ถวายธรรมชาตาปี

3) ไหว้พระพุทธบาท

(1) อานิสงส์ธรรมชาตาปี คือการสร้างคัมภีร์ประจำปี จะทำให้มีความรู้มีปัญญาดี (สงวน โชติสุขรัตน์. 2562  : 149-152)  ได้แก่

ปีเกิด                                        

ธรรมชาตาปี

ไจ้  (ชวด)                                

เตมีย์

เป้า  (ฉลู)                                  

เวสสันดร

ยี (ขาล)                                 

สุธนู

เหม้า (เถาะ)                                 

เนมิราช

สี (มะโรง)                               

สุภมิตร

ไส้ (มะเส็ง)                              

ภูริทัต

สะง้า (มะเมีย)                             

สุธน-มโนราห์

เม็ด (มะแม)                              

ฉัททันตชาดก

สัน (วอก)                               

มโหสถ

เส้า (ระกา)                                  

สิทธัตถะ

เส็ด(จอ)                                       

กุสราช

ไก๊ (กุน)                                      

มหาสุตโสม

ใครเกิดปีใด ก็เลือกสร้างหรือบูชา (เช่า) ธรรมคัมภีร์นั้นๆนำไปไว้ที่บ้านตระเตรียมทำกัณฑ์เทศน์ตามแต่อัธยาศัย ใครจะทำบุญอุทิศให้แก่ใครก็เขียนใส่ สะเรียงคือกระดาษตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่ามีปลายแหลม แล้วเอาพันปลายไม้ที่เหลาไว้ปักบนกัณฑ์เทศน์


วิดีโอ 1 อานิสงส์การสร้างพระไตรปิฏก

ในสมัยพุทธกาลใช้การท่องจำเป็นส่วนใหญ่และในพระไตรปิฎกก็กล่าวถึงแต่อานิสงส์การให้ธรรมทานที่เรียกว่า การอนุเคราะห์ด้วยธรรม เท่านั้น แต่อานิสงส์การสร้างพระไตรปิฎกหรือหนังสือนี้มีที่มาจากเรื่องโบราณกบิลราชชาดก ซึ่งเป็นนิทานเรื่องที่ 21 ในปัญญาสชาดก ที่มีต้นเรื่องกล่าวถึงการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสารีบุตรพอสรุปได้ว่า สมัยที่พระพุทธเจ้ายังบารมีอยู่ในชาติภพก่อนได้เคยเกิดเป็นอำมาตย์ของพุทธบิดา แห่งพระพุทธเจ้าชื่อว่า “ปุราณโคดม” ได้สร้างพระไตรปิฎกถวายไว้ได้พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิดในอนาคตกาลพระพุทธเจ้าปุราณโคดมจึงทรงพยากรณ์ไว้ว่า อำมาตย์ผู้นี้ต่อไปภายภาคหน้า จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าชื่อว่า “พระสมณโคดม” โดยบุญของการสร้างพระไตรปิฎกไว้นั้นมีมากมายมหาศาล (กรมศิลปากร. 2554 : 440-441) คือ

1) ได้เกิดเป็นราชาแห่งเทวดาครั้งละ 9 อสงไชย

1.1) ได้เกิดเป็นราชาแห่งเทวดาในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นคือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ มายา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวดี แต่ละชั้น ๆ (ชั้นละ 9 อสงไขย)

1.2) ได้เกิดเป็นอากาศเทวดา (คือเทวดาที่มีวิมานในอากาศ เช่นพระจันทร์ พระอาทิตย์ ดาวนพเคราะห์ ดาวนักษัตรต่าง ๆ)

1.3) ได้เป็นภูมเทวดา (เทวดาที่อยู่บนพื้นโลก มีวิมานบนต้นไม้ ในดิน พวกพระเสื้อเมืองทรงเมือง เทพอารักษ์ ฯ)

2) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วจะไม่ยากจน มีทรัพย์สมบัติมาก อย่างละ 9 อสงไขย คือ

2.1) ได้เกิดเป็นบรมจักรพรรดิราชถึงแปดหมื่นสี่พันชาติ 

2.2) ได้เกิดเป็นเจ้าประเทศราชถึง

2.3) ได้เกิดเป็นพราหมณบัณฑิต

2.4) ได้เกิดเป็นมหาเศรษฐี 

3) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วประพฤติดีรักษาศีล แล้วจะได้เป็นพระโพธิสัตว์

แม้เพียงแต่ได้เขียนพระพุทธวจนะแต่เพียงอักษรเดียวหรือบทเดียวเท่านั้น ยังมีผลอานิสงส์จะนับจะประมาณหาที่สุดมิได้

ภาพที่ 1 พระธาตุประจำ 12 ปีนักษัตร

(2) อานิสงส์การไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตร

ไหว้พระธาตุแล้วจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ทำให้อายุมั่นขวัญยืน ไหว้พระพุทธสิหิงค์ปีมะโรงแล้วมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป ไหว้พระธาตุอินทร์แขวนปีจอแล้วสะสมบุญบารมีทำให้ได้ไปเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรย ฯลฯ ตามความเชื่อเกี่ยวกับคุณของพระธาตุองค์นั้น ๆ ซึ่งประธาตุประจำปีเกิดสามารถแสดงเป็นตารางได้ (พระครูสมุห์วรวิทย์ ผาสุโก (ดุษฎีพฤฒิพันธุ์), 2554 : 34-40) ดังนี้

ตารางที่ 1 พระธาตุประจำปีเกิด วัด จังหวัด และมนต์บูชา

ปีเกิด

พระธาตุ

คำบูชา

วัด – จังหวัด

ปีชวด (หนู)

พระทักษิณโมลีธาตุ

นะโมพุทธายะ นะมามิ ติโลกะโมลี โลหะกูเฏ ปะติฏฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ กิตติมันตัง มะโนหะลัง อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ อังคะวะหะเย ปุเรระมะเน โกวิลา ลัคคะปัพพะเต สะหิเหมะคูหา คัพเภ ทักขิณะโมลี ธาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่

ปีฉลู (ปีวัว)

พระเกศา และพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้าน หน้าและด้านหลัง

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง ปะติฏฐาลัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะคุตตา อุตตะราภิทัย ยานะมามิหันตัง วะระชินะธาตุง

วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

ปีขาล (ปีเสือ)

พระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้าย

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

โกเสยยะ ธะชัคคะ ปัพพะเต สัตตะมะ โนรัมเม พุทธะเกสาธาตุ ปะติฆฐิตา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส

วัดพระธาตุช่อแฮ จ. แพร่

ปีเถาะ (กระต่าย)

พระบรมสาริกธาตุ (อัฐิ) กระดูกข้อมือข้างซ้าย

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ยา ธาตุภูตา อะตุลา นันทะปุเร เทวานุภาเวนะ วะระธาตุเสฏฐัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย

วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

สร้างเพื่อบรรจุพระบรมสาริกธาตุที่ได้มาจากสุโขทัย

(ระหว่างปี พ.ศ.1891-1901)

ปีมะโรง

(ปีงูใหญ่)

พระพุทธสิหิงค์

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

นะมามิ พิมพาสุขนาทิปูชัง สุรูปธารัง ติวาภิรัมมัง ติโลกะเชฏะฐัง วะระกิตติมันตัง ภะสิหะคะสุขัง อะหัง วันทามิ ทุระโต

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่

ปีมะเส็ง

(ปีงูเล็ก)

พระศรีมหาโพธิ์

หรือหน่อพระศรีมหาโพธิ์

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ปะ ฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง อนิมัสสะกัง ตะติยัง จังกะมะเสฏฐัง จตุตกัง

ระตะนะฆะรัง ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง ฉัฏฐังราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจจะสิทัง อะหัง วันทามิ ทูระโต

พระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา

ที่ประเทศอินเดีย

หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร

(วัดเจดีย์เจ็ดยอด) จ.เชียงใหม่

ปีมะเมีย

(ปีม้า)

พระเกศธาตุ 8 เส้น (เจดีย์ชเวดากอง)

พระเกศธาตุ 4 เส้น

พระนลาฏ (หน้าผาก)

(พระบรมธาตุ จ.ตาก)

1) คำสวดเจดีย์ชเวดากอง : ธัม ภูทีเป วะระฐาเน สิงคุตตะเร มะโนรัมเม สัตตะระนะ ปะฐะมัง กะกุสันธัง สุวัณณะฑัณธัง ธาตุโย ฐัสสะติ ทุติยัง โคนาคะมะนัง ธัมมะกะระณัง ธาตุโย ฐัสสะติ ตะติง กัตสัปปัง พุทธะจีวะรัง ธาตุโย ฐัสสะติ จะตุตะถัง โคตะมะ อัฏฐเกสะ ธาตุโย ฐัสสะติ ปัญจะมัง อริยะเมตเตยโย อนาคะโต อุตตะมังธาตุโยฯ

2) คำสวดพระบรมธาตุ จ.ตาก : สัมมา สัมพุทธะ นะลาตะอัฏฐิ จะตุเกสาธาตุยา คันธะวะรังฐิตัง ปะระมาธาตุ เจติยัง อะหังวันทามิ สัพพะทา

เจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า

หรือ วัดพระบรมธาตุ จ.ตาก

ปีมะแม

(ปีแพะ)

พระบรมธาตุส่วนกลางกระหม่อมใหญ่เท่าเม็ดถั่วเขียว ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งได้เกิดอัศจรรย์ปาฏิหาริย์แยกออกจากกันเป็น 2 องค์ โดยองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ วัดสวนดอก พระอารามหลวง และอีกองค์หนึ่งอัญเชิญประดิษฐาน ในองค์พระเจดีย์ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

– ทิศเหนือ

ปัญญะวา อัสมิงเยวะ จันทิมา อิวะธารยัง ปีฏะกัตตะเย สาสนะนีย์ ยานิเกติฯ

– ทิศใต้

ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตวา ปัตตะจีวรัง ยัง ยัง ชาตัง สังฆมัชเฌ ปุจฉา สุวาหฯ

– ทิศตะวันออก

โมกขะปะฐะมะวะรัง อะปายะนิวาระณัง อะระหัง สัคคะโสปาณังฯ

– ทิศตะวันตก

สุวัณณะเจติยัง เกสาวะระมัตถุลุงคัง วะรัญญะธาตุง สุเทวะนามะกัง นะระ

พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

ปีวอก (ปีลิง)

พระอุงรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ปุ ริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะศิริสะมิง ปันพะเตมะหากัสสะเปนะฐาปิตัง พุทธะอุรังคะ ธาตุง สิระสา นะมามิฯ

เสตฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทะอุรังคะ เจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

วัดพระธาตุพนม

จ.นครพนม

ปีระกา (ปีไก่)

พระบรมสารีริกธาตุ มีธาตุกระดูกพระเศียร ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้ว และธาตุย่อย

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

สุ วัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐังสะหะอังคุลิฏฐิง กัจจายะเนนา นิตะปัตตัปปะรัง สีเสนะ มัยหังปะระมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

พระธาตุหริภุญชัย

จ.ลำพูน

ปีจอ (ปีสุนัข)

พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี และพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ตาวะติงสายะ ปุรัมเม เกสะจุฬามะณี สะรีระปัพพะเต ปูชิตา สัพพะเทวานัง ตังสิระสา ธาตุอุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

 

พระจุฬามณีในสวรรค์ดาวดึงส์

หรือ พระธาตุอินทร์แขวน ประเทศพม่า

หรือ พระเจดีย์ที่วัดเกตการาม  จ.เชียงใหม่

 

ปีกุน (ปีหมู)

พระบรมธาตุส่วนไหปลาร้า และพระธาตุย่อย

นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรงมะหาคะมานะ มามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

วัดพระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

        ในธาตุปูชกเถราปทาน (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525 : ขุ.อป. (ไทย) 71/247/668-669) กล่าวถึงพระธาตุปูชกเถระได้เล่าเรื่องราวในอดีตชาติของตนว่า ได้บูชาพระธาตุองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้านามว่าสิทธัตถะเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ไม่เคยไปเกิดในทุคติภูมิอีกเลย เมื่อบวชแล้วได้สำเร็จอรหันต์ได้อภิญญา 6 (อิทธิฤทธิ์วิธี 6 อย่าง คือ ไปได้ทุกที่ด้วยการหายตัว เหาะหรือดำดิน มีหูทิพย์ ตาทิพย์ อ่านใจ ระลึกชาติ รู้จักการทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป) ปฏิสัมภิทา 4 (ปัญญาแตกฉานในธรรม เนื้อความ ไวยากรณ์ และปฏิภาณ) และวิโมกข์ 8 (ภาวะจิตที่หลุดพ้นจากการพิจารณารูปกสิณ และอายตนะ เป็นอารมณ์) แสดงให้เห็นว่าอานิสงส์ของการบูชาพระธาตุคือ

 1) ทำให้ไม่ไปเกิดในทุคติภูมิอีก

2) เมื่อเกิดในโลกมนุษย์ถ้าบวชแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และสำเร็จคุณวิเศษที่สำคัญคือ อภิญญา 6 ปฎิสัมภิทา 4 และวิโมกข์ 8

        นอกจากนี้แม้ว่าพระธาตุประจำปีเกิดจะไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน แต่การจารึกแสวงบุญไปไหว้พระธาตุทางภาคเหนือนั้นทำให้ชาวไท-ยวนได้ติดต่อกับชาวล้านนาที่อยู่ทางภาคเหนือ และยังคงสืบทอดวัฒนธรรมไท-ยวนอย่างเหนียวแน่น


วิดีโอที่ 2 เพลงพระธาตุประจำปีเกิด

(3) อานิสงส์ไหว้พุทธบาท

รอยพระพุทธบาทถือว่าเป็นบริโภคเจดีย์หมายถึงสถานที่พระพุทธเจ้าเคยใช้สอยที่เป็น 1 ใน 4 เจดีย์ตามแนวคิดของพุทธศาสนา อีก 3 เจดีย์คือ ธาตุกเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุต่าง ๆ  อุทิสสกเจดีย์เจดีย์ที่สร้างอุทิสให้พระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูป มีกล่าวไว้ในนิธิกัณฑสูตร พรรณนาคาถาที่ 7 (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525: ขุ.ขุ.อ. (ไทย) 39/9/312-313) ส่วนธรรมเจดีย์ คือสิ่งที่บรรจุพระธรรม หมายถึง พุทธพจน์ ดังเช่นในธรรมเจดีย์สูตรว่า ธรรมเจดีย์หมายถึงวาจาที่เคารพธรรมของพระเจ้าปเสนทิโกศล (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525:   ม.ม. (ไทย) 2/9/202) แต่ปัจจุบันหมายถึงพระไตรปิฎก หอไตร หลักศิลาที่ใช้เขียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

1) รอยพุทธบาทที่ปรากฏในอำเภอสีคิ้ว

ในอำเภอสีคิ้วมีรอยพุทธบาทที่สำคัญมีความสำคัญกับไท-ยวน คือ

1.1) รอยพุทธบาทสี่รอย

คือรอยพุทธบาท 4 ชั้น ตำนานว่าเป็นรอยพุทธเจ้า 4 พระองค์ประทับซ้อนกันคือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ และพระพุทธเจ้าศากยมุนี     ซึ่งมีที่มาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย) ทำให้ศิลปะนี้เริ่มสร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 นิยมสร้างมากในศิลปะไท-ยวนทางล้านนาก่อนที่คตินี้  จะแพร่หลายสู่ภาคกลาง ซึ่งนิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์หรือไม่ก็มีการข้นย้ายมาจากทางภาคเหนือ (ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์. 2560 : 35-47) แต่ก็มีการค้นพบในทางภาคอีสานเช่นที่บ้านนาตารอดจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดเขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา  

1.2) รอยพุทธบาทชั้นเดียว

รอยพุทธบาทตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 1 แต่เดิมเป็นรอยพระบาทเปล่าไม่มีลายสัญลักษณ์ใด ๆ มากนัก จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มมีศิลปะรูปมงคล 38 ประการ ตามคัมภีร์ชินลังการฎีกา ปรากฏบนรอยพุทธบาทจำลอง (จวน. คงแก้ว.  2559 : 77) โดยรอยพระพุทธบาทแบบมีมงคล 38 ประการนี้เป็นรอยพุทธบาทที่พบในเจดีย์อัฐิของวัดใหญ่สีคิ้ว และรอยพระพุทธบาทหินทรายในพระมณฑป วัดเกาะ (ชุมชนบ้านใต้)  อำเภอสีคิ้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นของใหม่สร้างในสมัยหลัง ส่วนรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทคีรีวันน์เขาพริก ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาเป็นรอยพุทธบาทที่ไม่มีลายมงคล 38 ประการน่าจะเป็นศิลปะโบราณแต่ไม่ทราบยุคสมัยที่แน่ชัด


ภาพที่ 2 รอยพุทธบาทพร้อมลายมงคล 38 ประการ ณ เจดีย์อัฐิวัดใหญ่สีคิ้ว

2) อานิสงส์บูชาพระพุทธบาทในพระไตรปิฏก

2.1) อานิสงส์การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยการไหว้

ในปทสัญญกเถราปทาน (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525: ขุ.อป. (ไทย) 71/2/276) พระปทสัญญกเถระได้เล่าเกี่ยวกับพระอานิสงส์การบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าติสสะในอดีตชาติ พอสรุปได้ว่า

2.1.1) จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉานภูมิอีก

2.1.2) ได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิชื่อว่า สุเมธะ

2.1.3) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้บวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ อภิญญา 4 วิโมกข์ 8 ปฏิสัมภิทา 4

2.2) อานิสงส์การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยดอกหงอนไก่

2.2.1) พระสุคันธเถระ

ในสุคันธเถรคาถา (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525 : ขุ.เถร. (ไทย) 50/161-162/168) กล่าวถึงอดีตขาติของพระสุคันธเถระได้บูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าติสสะด้วยดอกหงอนไก่แล้วได้อานิสงส์ดังนี้

1) จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ

2) ได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีรัสมีดุจดอกหงอนไก่

3) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์มีกลิ่นกายหอม

4) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้บวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ วิชา 3 (ระลึกชาติของตนได้ รู้จักการจุติและเกิดของผู้อื่น และความรู้ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป)

2.2.2) พระรมณียวิหารีเถระ

ในรมณียวิหารีเถรคาถา (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525 : ขุ.เถร. (ไทย) 50/5/255) กล่าวถึงพระรมณียวิหารีเถระ ในอดีตชาติได้บูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้าวิปัสสีด้วยดอกหงอนไก่แล้วได้อานิสงส์คือ

1) จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิอีก

2) ได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิชื่อว่า “วีตมละ”

3) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้บวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์

2.2.3) พระสโกฏกโกรัณฑทายกเถระ

ในสโกฏกโกรัณฑทายกเถราปทาน (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525 : ขุ.อป. (ไทย) 71/355-356/831) กล่าวถึงอานิสงส์ของพระสโกฏกโกรัณฑทายกเถระที่บูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสิขีว่า

1) จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิอีก

2) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้บวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ อภิญญา 4 วิโมกข์ 8 ปฏิสัมภิทา 4 

2.2.3) พระโกรัณฑปุปผิยเถระ

ในโกรัณฑปุปผิยเถราปทาน (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525 : ขุ.อป. (ไทย) 71/210-211/624) กล่าวถึงอานิสงส์ของพระโกรัณฑปุปผิยเถระที่บูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าวิปัสสีว่า

1) จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิอีก

2) ) ได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิชื่อว่า “ชุตินธระ”

3) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้บวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ อภิญญา 4 วิโมกข์ 8 ปฏิสัมภิทา 4

2.2) อานิสงส์การบูชาพระบาทของพระพุทธเจ้าด้วยดอกมะลิ

ในปทปูชกเถราปทาน (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามงกุฎราชวิทยาลัย. 2525: ขุ.อป. (ไทย) 71/106/361) กล่าวถึงเรื่องที่พระปทปูชกเถระได้ถวายดอกมะลิที่พระบาทของพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ     

2.2.1) จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉานภูมิอีก

2.2.2) ได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิชื่อว่า สมันตคันธะ

2.2.2) เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้บวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ อภิญญา 4 วิโมกข์ 8 ปฏิสัมภิทา 4

แสดงให้เห็นว่าการบูชารอยพระพุทธบาทเที่ยบเท่ากับการบูชาพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในสมัยที่ดำรงพระชนม์ชีพอยู่

ความเชื่อเรื่องอานิสงส์การไหว้พุทธบาทของไท-ยวนสีคิ้ว สามารถสนับสนุนให้เป็นประเพณีและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับงานเทศกาลการท่องเที่ยวประจำปีของทางภาคเหนือ หรือที่สระบุรีที่มีงานเทศกาลไหว้พระพุทธบาทประจำปี ที่มักจัดในช่วงเดือน 3 หรือ เดิอน 4 โดยมีการจัดให้มีพิธีสรงน้ำพระพุทธบาทด้วยน้ำผสมส้มป่อยซึ่งถือว่าเป็นสมุนไพรอันเป็นมงคลของชาวไท-ยวนทางภาคเหนือ แต่การไหว้พระพุทธบาทในชุมชนไท-ยวนสีคิ้วแต่ละวัดในอำเภอสีคิ้วจัดแยกกัน และไม่มีการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ยกเรื่องการไหว้พระพุทธบาทตามประเภทไท-ยวนมาเป็นสำคัญเท่าใดนัก

วิดีโอที่ 3 อานิสงส์บูชาพระพุทธบาท


กดปะกันเน้อกลับไปหน้าหลัก


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การฟื้นฟูอานิสงส์และภูมิปัญญาของไท-ยวน

อานิสงส์ประจำชีวิต

สำนวนไทย