ธงเต่า
เต่าในทางพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์ของความโง่ มีนิทานเต่าตายเพราะโง่คือกัจฉปชาดก กล่าวถึงเต่าในพระไตรปิฎกมันเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความโง่ ดังปรากฏในกัจฉปชาดก เรื่องเต่าตายเพราะปาก และเรื่องเต่าตายเพราะติดถิ่นที่อยู่เดิม แต่นิทานไทยเต่าเป็นสัตว์มีคุณ ซึ่งอาจจะเป็นค่านิยมที่มาจากไทดำ และไท-ยวน เช่นเรื่อง สุวรรณกัจฉปชาดกนั้นพระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นเต่าเรือนเสียสละช่วยชีวิตชาวเมืองที่หนีภัยสงครามไปอยู่เกาะแต่ไร้อาหารเหมือนเรื่องอดีตชาติขององคุลีมารแต่เต่าโพธิสัตว์เต็มใจสละชีวิตช่วยชีวิตประชาชน (กรรมศิลปากร. 2554 : 325-329) เรื่องนิทานตายายได้เต่าคำเป็นลูก แล้วพระอินทร์ก็มาถามปริศนาธรรมกับพระราชาไม่มีใครตอบได้นอกจากเต่าคำ (แปลก สนธิรักษ์. 2527 : 1-10) และนิทานเต่าคำแม่ของนางอุทธรา มีเนื้อหาเหมือนเรื่องปลาบู่ทองในภาคกลางและมรณมาตาของเขมร แต่เปลี่ยนจากปลาเป็นเต่า แสดงให้เห็นว่าเต่าเป็นผู้มีคุณดังเช่นความเชื่อของชนชาติไทดำหรือลาวโซ่งที่สร้างเรือนเป็นรูปทรงกระดองเต่าเพื่อแทนคุณที่เต่าบอกบทถวายพระยาแถน หรืออยู่ใต้กระดองเต่าเพื่อหลบยักษ์ (ปรียานุช คำสนอง. 2562 : 68)
แต่อย่างไรก็ตามมีการเปรียบเทียบว่าธงมหาลาภที่เป็นรูปเต่าหมายถึงการสำรวมอินทรีย์ดุจเต่าในแง่ให้คุณนั้นเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่ปรากฏในกุกุมสูตร และสุขุมสูตร ที่ว่าเต่ารอดชีวิตจากสุนัขจิ้งจอกได้เพราะหลบอยู่แต่ในกระดอง ดังนั้นพระภิกษุควรสำรวมใจจากกิเลส ไม่เบียดเบียนผู้บริสุทธิ์ ไม่ต่อว่าผู้ใด ๆ เหมือนเต่าหดหัวและขาในกระดองนั้น (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. 2525 : สํ.นิ. (ไทย) 16/540-543/220-225, สํ.สฬา. (ไทย) 18/320-321/197)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น