โหราศาสตร์ไท-ยวน

 

1) ดาวและกลุ่มดาว 27 นักษัตร

บุญรักษา สุนทรธรรม (บรรณาธิการ). (2564: 93-108) อธิบายถึงดาวและกลุ่มดาว 27 นักษัตร ว่า

นักษัตร หมายถึง ดาว หรือ ดาวฤกษ์ มี 27 หมู่ ได้แก่ 1 อัศวินี 2 ภรณี 3 กฤตติกา 4 โรหิณี 5 มฤคศิรา 6 อารทรา 7 ปุนัรวสุ 8 ปุษยะ 9 อาศเลษา 10 มฆา 11 ปูรวผาลคุนี 12 อุตตราผาลคุนี 13 หัสตะ 14 จิตรา 15 สวาตี 16 วิสาขา 17 อนุราธา 18 ชเยษฐา 19 มูละ 20 บุรพาษาฒ 21 อุตราษาฒ 22 ศรวณะ 23 ธนิษฐา 24 ศตภิษัช 25 บุรพภัทรบท 26 อุตรภัทรบท และ 27 เรวดี

คำว่า "นักษัตร" เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า "นกฺษตฺร" (อ่านว่า นัก-สัด-ตฺระ) แปลว่า “ดวงดาว” ตรงกับคำที่มาจากภาษาบาลีว่า "นกฺขตฺต" (อ่านว่า นัก-ขัด-ตะ) หรือที่ไทยใช้ว่า "นักขัต"

1.1) อัศวินี

อัศวินี หรือ อัสสวรณีอยู่ในราศีเมษ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวม้าตก หรือ ม้าหางหอน ซึ่งดาวในภาษาไทยกลาง ว่า ดาวม้า ดาวคอม้า ดาวหางหนู ประกอบด้วยดาวอยู่เรียงรายกัน 5 ดวง ในแผนที่ตารางดาวล้านนา ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองขอม

1.2) ภรณี 

ภรณีอยู่ในราศีเมษ มีชื่อล้านนาว่า ดาวเขียง หรือ เขียงกอม ชื่อดาวในภาษาไทยกลางว่า ดาวแม่ไก่ หรือ ดาวก้อนเส้า ประกอบด้วยดาว 3 ดวง เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม เหมือนก้อนเส้า หรือ เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำเมืองพุก่ำ หรือ พุกาม

1.3) กฤตติกา

กฤตติกา หรือ กิตติกาอยู่ในราศีพฤษภ แต่ในตารางดาวล้านนาว่าอยู่ในราศีเมษ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาววี หรือ ดาววีไก่น้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวลูกไก่ ประกอบด้วยดาว 7 ดวง เรียงเป็นรูปพัด ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองอาฬวี (เชียงรุ่ง หรือ สิบสองปันนา)

1.4) โรหิณี  

โรหิณี หรือ พราหมณี อยู่ในราศีพฤษภ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวค่าง หรือดาวกระจม (มงกุฎ) มีชื่อในภาษาไทยกลางว่า ดาวจมูก หรือ ดาวกระจม ประกอบด้วยดาวจำนวน 7 ดวง เรียงกันเป็นรูปมงกุฏ ในแผนที่ตารางดาวล้านนามี 5 ดวง ถือเป็นดาวประจำเมืองมลารัฏฐะ (เชียงตุง)

1.5) มฤคศิรา

 มฤคศิระ หรือ มิคสิระ อยู่ระหว่างราศีพฤษภ และราศีเมถุน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวหัวเนื้อ ซึ่งตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวหัวเนื้อ ดาวหัวเต่า ดาวเนื้อ หรือ ดาวโค ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 3 ดวง เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ถือเป็นดาวประจำเมืองหงสาวดี 

1.6) อารทรา

อารทะ หรือ อารทรา อยู่ในราศีเมถุน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวด้ง (กระด้ง) หรือ ดาวหมากแดง ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวฉัตร หรือ ดาวใบสำเภา ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 4 ดวง (บางตำราถือเอาดาวสุกใสเพียงดวงเดียว เรียก ดาวตาสำเภา) ถือเป็นดาวประจำเมืองกลิงครัฏฐะ

1.7) ปุนัรวสุ 

ปุนัพสุ หรือ ปุนัรวสุ อยู่ระหว่างราศีเมถุน กับราศีกรกฏ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวสะเพลา(สำเภา) ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวเรือชัย หรือ ดาวสำเภา ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 6 ดวง เรียงกันเป็นรูปโค้งท้องเรือ (บางตำราว่า 3 ดวง) ถือเป็นดาวประจำเมืองทะโค่ง (เมืองร่างกุ้ง)

1.8) ปุษยะ

ปุษยะ หรือ ปุสสยะ อยู่ในราศีกรกฏ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวเรือนห่าง หรือ ดาวพิดาน ตรงกับชื่อดาวในภาษาไทยกลางว่า ดาวปุยฝ้าย ดาวสมอสำเภา ดาวปู ดาวดอกบัว หรือ ดาวพวงดอกไม้ มีดาวเรียงกันอยู่ 6 ดวง เป็นรูปสมอ หรือ เรียงกันห้าดวงเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ตามแผนที่ตารางดาวล้านนา มี 4 ดวง เรียงกันอยู่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองดอกบัว (ยังไม่พบว่าอยู่ที่ใด)

1.9) อัศเลษา

อสิเลสะ หรือ อัสสเลสะ ในตำราดูดาวว่าอยู่ในราศีสิงห์ แต่ในตารางแผนที่ดาวล้านนาเขียนอยู่ในราศีกรกฏ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวม้า หรือ ดาวคอกม้า ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวเรือน ดาวพ้อม หรือ ดาวแขนคู้ ประกอบด้วยกลุ่มดาวเรียงกัน 5 ดวง แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนา มีจำนวน 6 ดวง เรียงกันเป็นรูปโค้งคว่ำ ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองวิเทหะ (เมืองฮ่อ หรือ ยูนนาน)

1.10) มฆา

มาฆะ หรือ มฆา อยู่ในราศีสิงห์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวงู หรือ ดาวสาวน้อย ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวลิง ดาวงูตัวผู้ หรือ ดาวงูเลื้อย ประกอบด้วยดาวเรียงสับกันในลักษณะฟันเลื่อย 5 ดวง ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองพาราณสี

1.11) ปูรวาผาลคุนี

ปุพพผลคุณ หรือ ปุพพผลคุนี อยู่ในราศีสิงห์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวพิดาน หรือ ดาวพิดานน้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวเพดานหน้า ดาวงูตัวเมีย หรือ ดาวแรดตัวผู้ ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 2 ดวง ( ดาวเพดานหน้า ) หรือ จำนวน 5 ดวง ( งูตัวเมีย ) แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุว่า ดาวพิดานน้อย นี้มีจำนวน 4 ดวงเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองมิถิลานคร

1.12) อุตตราผาลคุนี

อุตตรผลคุณ หรือ อุตรผลคุนี อยู่ในราศีกันย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวหัวเนื้อตัวแม่ หรือดาวรูปแพะตัวเมีย ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุแต่ชื่อที่เป็นภาษาสันสกฤต แต่ไม่ได้ระบุหมายเลข และชื่อภาษาล้านนา รวมทั้งการเขียนรูปกลุ่มดาวไว้แต่อย่างใด กลุ่มดาวนี้ภาษาไทยกลางว่า ดาวงูเหลือม ดาวเพดานหลัง หรือ ดาวแรดตัวเมีย ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 2 ดวง หรือ 8 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจำปานคร

1.13) หัสตะ

หัสตะ หรือ หัตถะ ในตำราดูดาวฤกษ์ 27 ตัว ว่าชื่อ “ ดาวช้างหลวง “ มีจำนวน 5 ดวง อยู่ในราศีกันย์ แต่ในตารางดาวระบุว่า “ ดาวช้างหลวง “ นี้อยู่กลางราศี หรืออยู่กลางกลุ่มดาวทั้งหลาย และมีจำนวนดาว 5 ดวงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเป็นดาวคนละกลุ่มกัน ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุไว้ว่า ดาวฤกษ์กลุ่มที่ 13 นี้ ชื่อ ดาวศอกคู้ อยู่ในราศีกันย์ และ มีจำนวน 5 ดวงเรียงกันมีลักษณะคล้ายศอกคู้ภาษาไทยกลางเรียกดาวหัสตะว่าเป็น ดาวฝ่ามือ ดาวศอกคู้ ดาวหัวช้าง ดาวช้างถือเป็นกลุ่มดาวประจำเ มืองธัญญวดี (เมืองยะไข่)

1.14) จิตรา

จิตรา หรือ จตระ อยู่ในราศีตุลย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวไต้ไฟหลวง แต่ในตารางดาวล้านนาเขียนว่า ไต้ไฟน้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวตาจระเข้ ดาวต่อมน้ำ ดาวไต้ไฟ ดาวไฟ เพราะมีดาวสุกใสเพียงดวงเดียว แต่ในตารางดาวนั้น กลุ่มดาวจิตราประกอบด้วยดาวจำนวน 2 ดวง วางตัวในแนวดิ่ง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองเวสาลี

1.15) สวาตี  

สวาติ หรือ สวาสติ อยู่ในราศีตุลย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวไต้ไฟน้อย แต่ในตารางดาวล้านนาเขียนว่า ดาวไต้ไฟหลวง ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวกระออมน้ำ ดาวช้างพัง ดาวงูเหลือม ดาวดวงแก้ว มีดาวเรียงกัน 5 ดวง ( บางตำราว่า 7 ดวง ) ในตารางดาวระบุว่า ดาวในกลุ่มดาวนี้มี 2 ดวงวางตัวในแนวดิ่ง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองมุลละเขิง (ไม่ทราบว่าตรงกับเมืองใด) 

1.16) วิสาขา

วิสาขา หรือวิสาขะ อยู่ในราศีตุลย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวขอบด้ง หรือ ดาวขงมอน ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวแขนนาง ดาวหนองลาด ดาวฆ้อง ดาวคันฉัตร ดาวควาย ดาวเขาควาย ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 4 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจัมปานคร

1.17) อนุราธา  

อนุราธะ อยู่ในราศีพิจิก ในตำราดูดาวไม่ได้ระบุหรือเขียนภาษาล้านนาไว้ แต่ในตารางดาวล้านนาระบุว่าชื่อ ดาวจักรพระยาอิน ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 5 ดวง มีลักษณะคล้ายแอก ชื่อภาษาไทยกลางระบุไว้คือ ดาวหงอนนาค ดาวธนู ดาวประจำฉัตร ดาวฉัตร ดาวนกยูง ดาวหน้าไม้ กลุ่มดาวนี้ประกอบด้วยดาวจำนวน 14 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองเชตุตรนคร (เมืองของพระเวสสันดร)

1.18) ชเยษฐา  

เชฏฐะ อยู่ในราศีพิจิก ทั้งในตำราดูดาว และตารางดาวต่างไม่ระบุชื่อภาษาล้านนาของกลุ่มดาวนี้ เพียงแต่แสดงหมายเลขกำกับกลุ่มดาว และรูปวาดที่ประกอบด้วยดาว 5 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองลังกาน้อย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน (ราชบัณฑิตยสถาน. 2554 :388) อธิบายว่า เชษฐา 2 (ป.เชฏฺฐา ส. เชยฺษฺฐา) ชื่อว่า ดาวช้างใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยดาว 14 ดวง นอกจากนี้ยังมีชื่อในภาษาไทยกลางอีกว่า ดาวแพะ ดาวช้าง ดาวคอนาค ดาวงาช้าง ดาวงวงช้าง

1.19) มูละ  

มูละ หรือ สัตตพิสมูละ อยู่ในราศีธนู มีชื่อในภาษาล้านนาว่า ดาวช้างน้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลาง นอกจากนี้ยังมีชื่อดาวไทยอีกว่า ดาวสะดือนาค ดาวแมง ประกอบด้วยดาวฤกษ์เรียงกัน 6 ดวงในตารางดาวล้านนา ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจุฬนี (แคว้นตังเกี๋ย)

1.20) ปูรวาษาฒา  

ปุพพสาฒะ อยู่ในราศีธนู ในตำราดูดาวว่าชื่อ ดาวปลายช้าง ส่วนในแผนที่ตารางดาวล้านนาใช้ชื่อว่า ดาวชีไฟ ซึ่งมีจำนวน 4 ดวง ดาวฤกษ์นี้ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวสัปคับช้าง ดาวปากนก ดาวช้างตัวผู้ ดาวราชสีห์ผู้ ดาวแรดตัวเมีย และ ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจันทบุรี              (เวียงจันทน์ ประเทศลาว เมืองหลวง)

1.21) อุตตราษาฒา

อุตตราสาฒะ อยู่ในราศีมกร มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวปลายหางช้าง แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนามิได้แสดงกลุ่มดาวนี้ไว้ กลุ่มดาวฤกษ์นี้ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวแตรงอน ดาวราชสีห์ตัวเมีย ดาวครุฑ ดาวช้างตัวเมีย ดาวแตรทอง ดาวแรดตัวผู้ และกล่าวว่ามีดาวจำนวน 5 ดวง และ ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองโบราณนคร

1.22) ศระวะณะ  

สราวณะ อยู่ในราศีมกร ในตำราดูดาว ว่าภาษาล้านนาใช้ชื่อ ดาวคานหามผี แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุชื่อว่า ดาวขอไล่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ดวงเรียงกันเป็นรูปเหมือนศอกคู้ ซึ่งในภาษาไทยกลางเรียกชื่อว่า ดาวหลักชัย ดาวหามผี ดาวโลง ดาวคนหามหมู ดาวคนจำศีล ดาวฤาษี ดาวหลักชัยฤาษี และ ถือเป็นดาวประจำเมืองอักโขเพณี (ไม่ทราบว่าตรงกับเมืองใด)

1.23) ธนิษฐา  

ธนิษฐะ หรือ ธนิฏฐะ ในตารางดาวล้านนาระบุว่าอยู่ในราศีมกร และมีชื่อในภาษาล้านนาว่า ดาวไซ หรือ ดาวเพียง แต่ในตำราดูดาวว่าชื่อ ดาวกีบกวาง และให้อยู่ในราศีกุมภ์ ภาษาไทยกลางเรียกว่า ดาวกา ดาวไซ ดาวยักษ์ ดาวช้างใหญ่ ดาวพาทย์ฆ้อง ดาวเศรษฐี กลุ่มดาวนี้กำหนดให้มีดาวจำนวน 4 ดวงเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และ ถือเป็นดาวประจำเมืองราชคฤหะ (ราชคฤ)

1.24) ศตภิษา 

ศตภิษะ หรือ สัตตพิสะ อยู่ในราศีกุมภ์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวช้างน้อย ในตารางดาวล้านนากำหนดหมายเลขดาวฤกษ์กลุ่มนี้ไว้ และมีรูปดาว 3 ดวง แต่ไม่ได้ระบุชื่อไว้ด้วย ชื่อภาษาไทยกลางคือ ดาวมังกร ดาวพิมพ์ทอง ดาวพิณทอง ดาวเศรษฐี ดาวงูเลื้อย ดาวยักษ์ และ ถือเป็นดาวประจำเมืองโกสัมพี

1.25) ปูรวาภาทรปท  

ปุพพภัทระ อยู่ในราศีกุมภ์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวพิดานหลวง ซึ่งมีจำนวน 4 ดวง ตรงกับดาวหัวเนื้อทรายซึ่งมีดาวอยู่ 2 ดวง ( ในตารางดาวล้านนากำหนดให้กลุ่มดาวนี้เป็นกลุ่มดาวที่ 26 ) ชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวราชสีห์ผู้ ดาวแรดผู้ ดาวหัวเนื้อทราย ดาวเพดาน และ ถือเป็นดาวประจำเมืองอินทปัตตนคร (เมืองขอม)

1.26) อุตตราภาทรปท

อุตตรภัทระ อยู่ในราศีมีน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวแม่เนื้อ แต่ในตารางดาวล้านนาไม่ปรากฏชื่อของกลุ่มดาวนี้ มีชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวราชสีห์ตัวเมีย ดาวแรดเมีย ดาวไม้เท้า ดาวใบเสา และดาวเพดาน ซึ่งประกอบด้วยดาว 2 ดวง ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองกบิลพัสถุ์

1.27) เรวตี 

เรวตี อยู่ในราศีมีน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวปลาซะเพียน ซึ่งในแผนที่ตารางดาวล้านนาเขียนเป็นดาวจำนวน 10 ดวงเรียงกันเป็นวงรี ชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวปลาตะเพียน ดาวหญิงมีครรภ์ ดาวนาง ดาวนางพญา และ ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองกุสินารา

1.28) อภิชิต

คือดาวเวก้า (Vega) หรือ อัลฟา ไลเรีย (Alpha Lyrae) ในกลุ่มดาวพิณไลระ (Lyra) แต่ไม่ปรากฏใน 27 กลุ่มดาวล้านนา

1.29) ธรุวะ

คือดาวเหนือในกลุ่มดาวหมีเล็ก ไม่รวมใน 27 กลุ่มดาวล้านนาเรียกกลุ่มดาวหมีเล็ก ว่า “ดาวช้างน้อย”

1.30) สัปตฤๅษี

ไม่รวม 27 กลุ่มดาวล้านนาเรียกว่า ดาวช้างหลวง ดังที่กล่าวว่า“ดาวช้างหลวงลูกเค้าชื่อขะตุแล ลูกถ้วน 2 ชื่อว่า มุฬะหะ ถ้วน 3 ชื่อบุตยะ ลูกถ้วน 4 ชื่ออะตรี ลูกถ้วน 5 ชื่ออังคาระ ลูกถ้วน 6 ชื่อวะสีมมะ ลูกถ้วน 7 ชื่อมะลิจิ ลูกน้อยอันเลียงอยู่นั้นชื่อรูนทธะติแล” (วีรศักด์ ของเดิม. 2558 : 162) ส่วนภาคกลางเรียก ดาวจระเข้ ดาวกระบวยมี 7 ดวง

ภาพที่ 1 กลุ่มดาว 27 นักษัตร ใน 12 ราศี

ที่มา: วรเดช มีแสงรุทรกุล. 2564: online.

 2) ฤกษ์ยามต่าง ๆ

โบราณท่านยังแบ่งเป็นอีก 9 ฤกษ์ที่คู่กับดาวทั้ง 27 ได้แก่

1.2.1 ทลิทโทฤกษ์ 1.2.2 มหัทธโนฤกษ์ 1.2.3 โจโรฤกษ์ 1.2.4 ภูมิปาโลฤกษ์ 1.2.5        เทศาตรีฤกษ์ 1.2.6 เทวีฤกษ์ 1.2.7 เพชฌฆาตฤกษ์ 1.2.8 ราชาฤกษ์ 1.2.9 สมโณฤกษ์ สลับกันไปใน ตำแหน่งจุดตัดสุดนวางค์ขาด เพื่อใช้ประกอบฤกษ์บนโดยให้เป็นฤกษ์ล่างมีดังนี้

ตารางที่ 1 เทียบ นวเคราะห์ นวตาราฤกษ์ กับดาว 27 นักษัตร

นวเคราะห์

นวตารา (ฤกษ์)

ฤกษ์

นักษัตร

เกตุ

1 ชนฺม

ทลิทโท

อัศวนี

 มฆา

มูล

ศุกร์

2 สมฺปต (สมบัติ)

มหัทธโน

ภรณี

ปูรวาผาลคุนี

ปูรวาษาฒ

อาทิตย์

3 วิปต (วิบัติ)

โจโร

กฤตติกา

อุตตราผาลคุนี

อุตตราษาฒ

จันทร์

4 เกษม

ภูมิปาโล

โรหิณี

หัสตะ

ศระวะณะ

อังคาร

5 ปฺรติยก (ปรัตยุระ)

เทศาตรี

มฤคศีรา

จิตรา

ธนิษฐา

ราหู

6 สาธก

เทวี

อารทรา

สวาตี

ศตภิษา

พฤหัสบดี

7 วธ (นิธน)

เพชฌฆาต

ปูนัรวสุ

วิสาขา

ปูรวาภาทรปท

เสาร์

8 ไมตฺรี (มิตร)

ราชา

ปุษยะ

อนุราธา

อุตตราภาทรปท

พุธ

9 อาทิไมตฺรี (ปรมมิตร)

สมโณ

อัศเลษา

ชเยษฐา

เรวตี

สรุปฤกษ์ทั้ง 9 นวตารา กับ 27 นักษัตร ได้แก่

2.1) ทลิทโทฤกษ์ เป็นฤกษ์ของผู้เข็ญใจ เหมาะกับการทวงหนี้  ขอความเมตตาจากผู้ใหญ่ ตรงกับ ชนม ของอินเดีย ฤกษ์นี้ประจำดาวอัศวินี มาฆะ และมูละ

2.2) มหัทธโนฤกษ์ เป็นฤกษ์ของเศรษฐี เหมาะกับการแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้าน  ตรงกับ สมบัติ ของอินเดีย ฤกษ์นี้ประจำดาวภรณี บุรพผลคุนี และบุรพษาฒ

2.3) โจโรฤกษ์ เป็นฤกษ์ของโจร เหมาะกับการปล้น ขโมย ทำสิ่งผิดกฎหมาย ตรงกับ วิบัติ ของอินเดีย คนเกิดฤกษ์นี้มักมีเคราะห์ให้โทษ ฤกษ์นี้ประจำดาวกฤตติกา อุตรผลคุนิ และอุตราษาฒ (ตำนานว่าพระอรหันต์องคุลีมารเกิดภายใต้ฤกษ์นี้)

2.4) ภูมิปาโลฤกษ์ เป็นฤกษ์ของผู้รักษาที่ดิน  เหมาะกับการทำเกษตร ตรงกับ เกษม ของอินเดีย ฤกษ์นี้ประจำดาวโรหิณี หัสตะ และศรวณะ

2.5) เทศาตรีฤกษ์ เป็นฤกษ์ของนักพเนจร เหมาะกับการเที่ยวสถานเริงรมย์ เปิดแสดงมหรสพ สถานเริงรมย์ ธุรกิจท่องเที่ยว ตรงกับ ปรัตยุระ ของอินเดีย ผู้เกิดภายใต้ฤกษ์นี้มักมีเคราะห์ให้โทษโดยเฉพาะสตรีมักมากรักหลายชาย ฤกษ์นี้ประจำดาวมฤคศิระ จิตรา และธนิษฐา

2.6) เทวีฤกษ์ เป็นฤกษ์ของราชินี เหมาะกับการหมั้นหมาย สมรส เปิดธุรกิจเกี่ยวกับความงาม การประกวดนางงาม ตรงกับ สาธะกะ ของทางอินเดีย ฤกษ์นี้ประจำดาวอารทรา สวาติ และศตภิษัช 

2.7) เพชฌฆาตฤกษ์ เป็นฤกษ์ของเพชฌฆาต เหมาะกับการรักษาโรค เดินทัพ ประกอบพิธีไสยศาสตร์ ต่อสู้ สืบคดีความ ตรงกับ นิธนะ ของอินเดีย มักมีเคราะห์ให้โทษ ฤกษ์นี้ประจำดาวปุนัพสุ วิสาขะ และบุรพภัทรบท

2.8) ราชาฤกษ์ เป็นฤกษ์ของราชา เหมาะกับการหาเสียงเลือกตั้ง สมัครงาน ประกอบพระราชพิธี และงานมงคลทั้งปวง ตรงกับ มิตระ ของอินเดีย ฤกษ์นี้ประจำดาวปุษยะ อนุราธะ และอุตรภัทรบท

2.9) สมโณฤกษ์ เป็นฤกษ์ของนักบวช เหมะกับการบวช สมัครเรียน ไหว้ครู ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญต่ออายุ ตรงกับ ปรมมิตระ ของอินเดีย ฤกษ์นี้ประจำดาวอาศเลษ เชษฐา และเรวดี

3) ผีและพระธาตุประจำปีเกิด

3.1) ผีพ่อเกิดแม่เกิดประจำปีนักษัตร

ผีพ่อเกิดแม่เกิด เป็นผีพ่อแม่เดิมเมื่อวิญญาณมนุษย์เคยอยู่ในปรโลกหรือเมืองผีตามคติความเชื่อของล้านนาที่ว่า ก่อนคนเราทุก ๆ คนจะมาเกิดในโลกมนุษย์นี้ ทุกคนเคยเป็นวิญญาณอยู่ในปรโลกและมีพ่อแม่อยู่ที่เป็นผีคอยดูแลมาก่อน ต่อมาถึงคราวตายจากดินแดนปรโลกนั้น ก็ได้มาเกิดในโลกนี้ ที่เป็น “เมืองคน” พ่อแม่เกิดเดิมนั้นยังมีความอาลัยรัก หรือวิญญาณบางคนหนีมาเกิดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อเกิดแม่เกิด ดังนั้นพ่อเกิดแม่เกิดจึงตามมาลงโทษ หรือกลั่นแกล้งโดยเฉพาะในช่วงที่เด็กมีอายุไม่ถึง 10 ปี จนอาจทำให้เด็กตาย กลับไปเป็นลูกของพ่อแม่เกิด ที่ไม่อยากให้มาเกิดในปรโลกอีก ดังนั้นเมื่อเด็กเจ็บป่วยรักษาไม่หาย ก็คิดว่าเป็นผลมาจากฝีมือของพ่อเกิดแม่เกิด  จึงต้องมีทำพิธี “ส่งพ่อเกิด แม่เกิด” เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พ่อแม่ในเมืองคนที่เป็นพ่อแม่มนุษย์ ที่จะต้องทำการขอร้องเจรจาต่อพ่อแม่เกิดเพื่อให้เด็กหายป่วย ซึ่งคล้ายกับความเชื่อเรื่องแม่ซื้อของเขมร ชาวไทยภาคกลาง และนางโยคินี 64 ตนของรัฐโอริสาประเทศอินเดีย

3.1.1) ผีแม่เกิด ประจำ 12 ปีนักษัตร

โดยเฉพาะแม่เกิดที่สำคัญนั้นมี 12 ตนประจำปีนักษัตรของล้านนา ได้แก่

3.1.1.1) ใจ้ (ชวด) นางเอ้ยอริยา

3.1.1.2) เป้า (ฉลู) นางสาหด

3.1.1.3) ยี (ขาล) นางผุสดี /อังระนี

3.1.1.4) เหม้า (เถาะ) นางอังระนี/ ธรณี

3.1.1.5) สี (มะโรง) นางอุมมาวดี

3.1.1.6) ใส้ (มะเส็ง) นางสีไวยะกา

3.1.1.7) สะง้า (มะเมีย) นางหน่อฟ้า

3.1.1.8) เม็ด (มะแม) นางมาลา/อุทายะบริสุทธ์

3.1.1.9) สัน (วอก) นางมัณฑาธงดอกไม้

3.1.1.10) เร้า (ระกา) นางไกสร/สมุนรี

3.1.1.11) เส็ด (จอ) นางอมร /ประเสริฐดำล้ำ

3.1.1.12) ใก๊ (กุน) ปัญจมาตามหาสีดาวิเศษ

3.1.2) ผีแม่เกิดประจำ 10 ช่วงเวลาของเด็ก

โดยแม่เกิดยังแบ่งเป็นแม่เกิดประจำ 10 วัน 10 เดือน และ 10 ปี ที่มารักษาเด็กแล้วต้องทำการบูชาให้ถูกต้อง ได้แก่

3.1.2.1) นางเมนกะ  /เนกะ

3.1.2.2) นางสุนันทะ

3.1.2.3) นางบุตระ

3.1.2.4) นางผดะตัด / ผุสสะ

3.1.2.5) นางภะมัสสะ / ภิมะสา

3.1.2.6) นางอัคคนิสสะ / อัคนิสา

3.1.2.7) นางกิลาดเลาดี / ติโลวดี

3.1.2.8) นางติมลากะ/ ติมาลา

3.1.2.9) นางนมะธนา /เมถนา

3.1.2.10) นางเรณะปันนัง / เรวดี

4) ความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิด

พระธาตุประจำปีเกิดนั้นเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนามาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเชื่อกันว่าก่อนที่ดวงวิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็จะมีสัตว์ประจำนักษัตร หรือชาวล้านนาเรียกกันว่า “ตั๋วเปิ้ง” นำดวงวิญญาณมาพักไว้ที่พระธาตุเจดีย์ หรือเรียกกันว่า “ชุธาตุ” เมื่อถึงเวลาดวงวิญญาณจะย้ายไปสถิตอยู่ที่กระหม่อมของผู้เป็นบิดาเพียง 7 วัน จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดา และเมื่อเสียชีวิตลง ดวงวิญญาณก็จะกลับไปสถิตอยู่ที่พระธาตุเจดีย์เดิมที่เคยจากมา

คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุการณ์ โดยในคติล้านนาได้กล่าวถึงพระธาตุประจำนักษัตรปีเกิดได้แก่

4.1) ปีชวด (ปีหนู) พระธาตุประจำปีเกิด: วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่

4.2) ปีฉลู (ปีวัว) พระธาตุประจำปีเกิด: วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

4.3) ปีขาล (ปีเสือ) พระธาตุประจำปีเกิด: วัดพระธาตุช่อแฮ จ. แพร่

4.4) ปีเถาะ (กระต่าย) พระธาตุประจำปีเกิด: วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

4.5) ปีมะโรง (ปีงูใหญ่) พระธาตุประจำปีเกิด: พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร           จ.เชียงใหม่

4.6) ปีมะเส็ง (ปีงูเล็ก) พระธาตุประจำปีเกิด: พระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจดีย์เจ็ดยอด) จ.เชียงใหม่

4.7) ปีมะเมีย (ปีม้า) พระธาตุประจำปีเกิด: พระธาตุชเวดากอง พม่า หรือพระธาตุชเวดากองจำลอง วัดพระบรมธาตุ จ.ตาก

4.8) ปีมะแม (ปีแพะ) พระธาตุประจำปีเกิด: พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

4.9) ปีวอก (ปีลิง) พระธาตุประจำปีเกิด: วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม

4.10) ปีระกา (ปีไก่) พระธาตุประจำปีเกิด: พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน

4.11) ปีจอ (ปีสุนัข) พระธาตุประจำปีเกิด: พระธาตุจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึง พระธาตุ      อินแขวน หรือพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีจำลอง วัดเกตการาม จ.เชียงใหม่

4.12) ปีกุน (ปีหมู) พระธาตุประจำปีเกิด: วัดพระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

5) การนับถือผี

ภิรพรรษ ปลิวจันทึก (2561 : 55-56) ได้อธิบายไว้ว่า การนับถือผีของชาวไทยยวนเป็นพิธีกรรมความเชื่อที่สืบทอดมาภายในครอบครัวไทยยวน ที่ควบคู่ไปการนับถือพระพุทธศาสนา โดยการนับถือผีของชาวไทยยวนสีคิ้วที่สำคัญคือ

5.1) ผีปูย่าตายาย คือผีบรรพบุรุษของชาวไทยยวน ภายในบ้านไทยยวนมักจะตั้งหิ้งผีไว้ที่เสาเอกให้สูงเป็นที่ไหว้เคารพบูชา โดยผีส่วนใหญ่เป็นผีที่มาจากฝ่ายมารดาที่สืบทอดมาแต่สมัยโบราณ เมื่อชาวไทยยวนย้ายไปไหนต้องนำผีบรรพบุรุษที่ตามไปด้วย เพราะเชื่อว่าถ้าบูชาผีบรรพบุรุษ ผีจะบันดาลให้เจริญร่ำรวย ค้าขาย ทำนาทำสวนได้ผลดี ผีบรรพบุรุษจะคุ้มครองจากภัยชั่วร้ายทั้งปวง

เมื่อสตรีชาวไทยยวนแต่งงาน หรือมีคู่ก่อนแต่งที่เรียกว่า “ผิดผี” ก็ต้องบอกกล่าวหรือขอโทษต่อผีบรรพบุรุษ โดยแต่ละตระกูลมีความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องสังเวยที่ผีชอบไม่เหมือนกัน ผีบรรพบุรุษบางตระกูลชอบเหล้า บางตระกูลชอบขนม บางตระกูลชอบเนื้อสัตว์

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานไทยยวนมักกลับบ้าน เพื่อมาร่วมกิจกรรมรดน้ำขอพรพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ แล้วยังสรงน้ำกระดูของญาติผู้เสียชีวิต โดยมาการนิมนต์พระมาชักผ้าบังสุกุลให้กระดูกบรรพบุรุษที่บรรจุไว้ในโกศธาตุที่บ้าน หรือเจดีย์ที่วัด

5.2) ผีเฮือน คือผีบ้านผีเรือน ผีพระภูมิเจ้าที่ ที่ชาวไทยยวนสร้างศาลไว้นอกบ้านสำหรับเซ่นไหว้  จะมีพิธีเซ่นไหว้ที่เรียกว่า “เลี้ยงผี” เป็นพิเศษเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ หรือตามเทศกาลสำคัญต่างๆ

5.3) ผีประจำหมู่บ้าน คือผีพระภูมิเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ซึ่งก็คือพระยาสี่เขี้ยว ถือว่าเป็นผีเสื้อประจำหมู่บ้าน

5.4) ผีประจำวัด มี 3 ประเภท คือ

   5.4.1 ผีเสื้อวัด คือผีที่คุ้มครองวัดมักเรียกเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย

   5.4.2 ผีเปรต คือผีหิวโหยที่มาขอส่วนบุญตามความเชื่อของชาวพุทธ

   5.4.3 ผีที่อยู่ตามป่าช้า คือวิญญาณของผู้ตายที่ยังอยู่ในป่าช้า

5.5) ผีเสื้อนา คือผีที่รักษาท้องนาตามความเชื่อของชาวไทยยวน ในทางใต้ก็มีความเชื่อเรื่องนางสันธมาร แม่เลี้ยงที่เป็นยักษิณีของนางสิบสองและนางเมรีถูกพระรถฆ่าตายแล้วกลายเป็นผีประจำท้องนา หรือเรื่องความเชื่อการเซ่นไหว้แม่โพสพในภาคกลาง

5.6) แม่ธรณี เป็นนางเทพประจำพื้นดิน ชาวไทยยวนสีคิ้ว เชื่อว่าต้องรู้คุณแม่ธรณีที่ให้ที่ดินอาศัยและแม่ธรณียังสามารถคุ้มภัยผู้บูชาให้ปลอดภัยจากการเดินทางโดยการกลั้นหายใจหยิบก้อนดินสามก้อนวางไว้บนผมแล้วอธิษฐาน

5.7) ผีเจ้าพ่อเจ้าแม่ คือผีฟ้า หรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่เชิญมาให้สิงคนทรงเพื่อประกอบพิธีกรรมบางอย่าง

5.8) ผีพ่อเกิดแม่เกิด คือผีแบบเดียวกับความเชื่อเรื่องแม่ซื้อในภาคกลาง ที่เชื่อว่าเป็นพ่อแม่ก่อนเก่าในเมืองผีที่ติดตามมาดูแลเด็กทารก จึงถึง 10 ขวบ แต่ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กป่วยด้วย ชาวไทยยวนสีคิ้วในสมัยก่อนจะนำเขม่าก้นหม้อที่ใช้ฟืนเผาไปทาหน้าทารก ในพิธีส่งพ่อเกิดแม่เกิดเพื่อป้องกันไม่ให้ผีอยากเอาเด็กกลับไปเป็นลูกในเมืองผีอีก

5.9) ผีปอบ เป็นผีร้ายที่สิงอยู่ในตัวคนได้ทั้ง ชายและหญิง เพราะมีเครื่องรางของขลังไม่ดูแล หรือทอดทิ้งไม่เลี้ยงผีบรรพบุรุษ ซึ่งผีปอบสามารถสืบทอดทางสายเลือด และการแต่งงาน คือหญิงที่แต่งงานกับชายที่ปอบก็จะเป็นปอบตามไปด้วย

5.10) ความเชื่อเรื่องขวัญ

ขวัญคือ สิ่งที่อยู่กับคน สัตว์ และสิ่งที่ไม่มีชีวิตอื่นๆ เช่น ขวัญเฮือ (เรือ)  ขวัญงัว ขวัญเข้า (ข้าว) ฯลฯ ส่วนในร่างกายของคน ทุก ๆ คนก็มีขวัญตั้งแต่เกิด เป็นภาวะทางจิต เป็นของภายใน มองไม่เห็นด้วยตา จับต้องไม่ได้ ขวัญนีถ้าอยู่กับตัวผู้ใดก็มีแต่ความสุขสบาย แต่ถ้าขวัญหนีหายจากตัวไปก็จะเจ็บป่วยจนถึงตายได้

5.10.1) ขวัญของคน

ชาวไทยยวนเชื่อกันว่า ขวัญของคนมักจะหนีไปไม่อยู่ในร่างกาย จนต้องทำพิธีเชิญให้ขวัญกลับมา คือ

1) การตกใจ

2) การเจ็บไข้ได้ป่วย

3) เพราะไปต่างถิ่นนาน ๆ ขวัญยังไม่ตามกลับมาด้วย

4) มีงานมงคลต่าง ๆ

5.10.2) ขวัญเข้า (ข้าว)

ขวัญเข้าคือ ขวัญที่อยู่ในข้าว ที่ชาวไทยยวนที่เป็นชาวนาให้ความสำคัญ  โดยการนวดข้าวนั้นจะต้องมีการเลือกทำในวันมงคล เช่นวันที่เป็นฤกษ์วันธงชัยหรือวันอธิบดี มีพิธีกรรมเช่นการมัดข้าวเป็นฟ่อนเข้าลาน คือมัดข้าวที่เตรียมนวดไปไว้บนลานกว้างที่จัดเตรียมไว้พักก่อนก่อนการนวดข้าว นำเอาใบและดอกของต้นคูนมาไว้ที่ส่วนหัวของลานพักข้าว แล้วเอาฟ่อนข้าวแรกมาทับไว้นวดข้าวจนเสร็จ แล้วทำพิธีเชิญขวัญแม่โพสพก่อนโดยสตรีผู้ประกอบพิธีจะคอนกระบุงเดินเก็บรวงข้าวที่ตกอยู่ในทุ่งนาโดยไม่พูดกับใครจนหมดแล้วทุกไร่จึงเอาข้าวทั้งหมดเข้าเก็บในยุ้ง จากนั้นนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นที่ลานนวดข้าว “เรียกว่าทำบุญลาน” รุ่งเช้าทำบุญตักบาตร แล้วเชิญขวัญข้าว

 6) ทิศมงคลกับประเพณีขึ้นเฮือนใหม่

การขึ้นเฮือนใหม่ คือพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ หลังการปลูกเรือนใหม่แล้วเสร็จ จะต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อให้เกิดสิริมงคล โดยจัดขึ้นในวันที่เป็นมงคลตามความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามที่ดีในวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ นอกจากนียั้งถือทิศทางที่ใช้ขึ้นบ้านใหม่ (ภิรพรรษ ปลิวจันทึก, 2561 : 55-56 และ) คือ

6.1) ทิศทางการขึ้นบ้านใหม่

6.1.1) ทิศมงคล 4 ทิศ ได้แก่

6.1.1.1) ขึ้นทางทิศเหนือ (อุดร) จะได้สัตว์ 2 เท้า 4 เท้า

6.1.1.2) ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จะได้ทรัพย์สินเงินทอง

6.1.1.3) ขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) เจ้านายจะให้ลาภ

6.1.1.4) ขึ้นทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) จะมีลาภ

6.1.2) ทิศอัปมงคล 4 ทิศ ได้แก่

6.1.2.1) ขึ้นทางทิศตะวันออก (บูรพา) จะเกิดคดีความ

6.1.2.2) ขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ (อาคเนย์) เจ้าของเรือนจะตาย

6.1.2.3) ขึ้นทางทิศใต้ (ทักษิณ) จะเสียข้าวของ

6.1.2.4) ขึ้นทางทิศตะวันตก (ปัจฉิม) จะเจ็บป่วย

7) การสร้างคัมภีร์พุทธศาสนาตามหลักโหราศาสตร์ไทยยวน

อานิสงส์การสร้างคัมภีร์ชาดกและพระธรรมคำสอนตามความเชื่อทางโหราศาสตร์คือ ประจำเดือน ปี  และวันเกิดนั้นถือว่าเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของชาวไทยยวนที่จะดึงให้ชาวบ้านรู้จักทำบุญสร้างคัมภีร์หรือฟังธรรมตามความเชื่อที่ว่า “ถ้าใครทำกินไม่ร่ำรวย เก็บเงินไม่ได้ ให้ทานธรรมชาตาแล้วชีวิตจะเจริญรุ่งเรือง” บุคคลใดก็ตาม” ทำให้ชาวไทยยวนสมัยก่อนนิยมจ้างคนจารคัมภีร์ชาดกและพระธรรมคำสอนเป็นใบลานมาถวายพระสงฆ์เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเรื่องพระเวสสันดร หากใครไม่สามารถหาคัมภีร์มาถวายได้ ก็มีการอนุญาตให้ถวายเงินบูชาคัมภีร์นั้น ๆ ที่วัดมีอยู่แล้วเป็นสัญลักษณ์ก็เชื่อว่าจำทำให้ได้บุญและอานิสงส์เช่นเดียวกัน              

พระอานิสงส์ในการสร้างคัมภีร์ต่าง ๆ ของไทยล้านนาเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์แบบไทยพุทธ     ที่สงวน โชติสุขรัตน์ (2562: 149-152) อธิบายไว้ดังนี้

7.1) ธรรมชาตาปี คือธรรมคัมภีร์หรือชาดกที่กำหนดให้สร้างตามปีเกิดได้แก่

            ปีเกิด - ธรรมชาตาปี (ชาดก)
            ชวด (ไจ้) - เตมียชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต)
            ฉลู (เป้า) - เวสสันตรชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต)
            ขาล (ยี) - สุธนูชาดก (สุทธนู, ปัญญาสชาดก)
            เถาะ (เหม้า) - เนมิราชชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต)
            มะโรง (สี) - สุภมิตรชาดก (สมภมิตร ปัญญาสชาดก)
            มะเส็ง (ไส้) - ภูริทัตชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต)
            มะเมีย (สะง้า) - สุธนชาดก (พระสุธน-มโนราห์)
            มะแม (เม็ด) - ฉันทันตชาดก (ชาดกในนิบาต)
            วอก (สัน) - มโหสถชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต)
            ระกา (เส้า) - เจ้าชายสิทธัตถะ (พุทธประวัติ)
            จอ (เส็ด) - กุสชาดก (กุสราช, ชาดกในนิบาต)
            กุน (ไก๊) - มหาสุตโสมชาดก (ชาดกในนิบาต)

7.2) ธรรมชาตาเดือน คือธรรมคัมภีร์และชาดกที่กำหนดให้ประจำเดือนเกิด คือ

            เดือนเกิด ธรรมชาตาเดือน (สุตตันตปิฏก +นิทานล้านนา)

            เกี๋ยง (อ้าย) - สุธนชาดก (พระสุธน-มโนราห์ ปัญญาสชาดก) หรือปฐมกัปป์ (นิทานไทย)
            ยี่ (2) - ฉันทันตชาดก (ช้างฉัททันต์, ชาดกในนิบาต) หรือปทุมกุมาร (ปัญญาสชาดก
            สาม - มโหสถชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ มัฎฐกุณฑลี (พุทธประวัติ)
            สี่ - ภูริทัต (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ หงส์ผาคำ (ชาดกนอกนิบาต)
            ห้า - มหาสุตโสมชาดก (ปุริสารท, ชาดกในนิบาต) หรือ นางอุทธรา (นิทานเต่าคำ)
            หก - เตมิยะ (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ พุทธโฆสเถร (พุทธปกรณัม)
            เจ็ด - เนมิราช (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ อรินทม (ปัญญาสชาดก)
            แปด - นารท (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ สิทธัตถะ (พุทธประวัติ)
            เก้า - วิฑุรบัณฑิตชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ พุทธาภิเษก (บทสวดมนต์)
            สิบ - สุวรรณสามชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ ธรรมจักร (ธรรมะ)
            สิบเอ็ด - เวสสันตรชาดก (ทศชาติ, ชาดกในนิบาต) หรือ พุทธนิพพาน (พุทธประวัติ)
            สิบสอง - สุภมิตรชาดก (หรือ สมภมิตร ปัญญาสชาดก) หรือ มหามังคลสูตร (ธรรมะ)

       โดยการนับเดือนไทยภาคกลางกับเดือนไทยยวนแตกต่างกันดังนี้

เดือนเกี๋ยง (เดือน 1) ตรงกับเดือน 11 ของภาคกลาง ประมาณเดือน ตุลาคม

เดือนยี่ (เดือน 2) ตรงกับเดือน 12 ของภาคกลาง ประมาณเดือน พฤศจิกายน

เดือน 3 ตรงกับเดือนอ้าย (เดือน 1) ของภาคกลาง ประมาณเดือน ธันวาคม

เดือน 4 เหนือ ตรงกับหรือเดือนยี่ (เดือน 2) ของภาคกลาง ประมาณเดือน มกราคม

เดือน 5 เหนือ ตรงกับเดือน 3 ของภาคกลาง ประมาณเดือน กุมภาพันธ์

เดือน 6 เหนือ ตรงกับเดือน 4 ของภาคกลาง ประมาณเดือน มีนาคม

เดือน 7 เหนือ ตรงกับเดือน 5 ของภาคกลาง ประมาณเดือน เมษายน

เดือน 8 เหนือ ตรงกับเดือน 6 ของภาคกลาง ประมาณเดือน พฤษภาคม

เดือน 9 เหนือ ตรงกับเดือน 7 ของภาคกลาง ประมาณเดือน มิถุนายน

เดือน 10 เหนือ ตรงกับเดือน 8 ของภาคกลาง ประมาณเดือน กรกฎาคม

เดือน 11 เหนือ ตรงกับเดือน 9 ของภาคกลาง ประมาณเดือน สิงหาคม

เดือน 12 เหนือ ตรงกับเดือน 10 ของภาคกลาง ประมาณเดือน กันยายน

โดยสามารถสรุปเป็นตารางได้ดังนี้

ตารางที่ 2 เดือนไทย ไต และอินเดีย

            ที่มา: วรเดช มีแสงรุทรกุล, 2567.

7.3) ธรรมหรือคัมภีร์ที่ท่านกำหนดให้เป็นธรรมชาตาวัน

            วันเกิด - ธรรมชาตาวัน (เป็นอภิธรรมปิฏกแบ่งเป็น 7 คัมภีร์ตามวันเกิด)

            อาทิตย์ - สังคิณี (รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ)

            จันทร์ - วิภังคะ (ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วอธิบายโดยละเอียด)

            อังคาร - ธาตุกถา (สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ)

            พุธ - ปุคคลปัญญัตติ (บัญญัติความหมายและธรรมของบุคคลต่าง ๆ)

            พฤหัสบดี - กถาวัตถุ (แถลงและวิจารณ์ทฤษฎีของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ 3)

            ศุกร์ - ยมกะ (ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีการถามตอบ)

            เสาร์ - มหาปัฏฐาน (อธิบายปัจจัย 24 ที่มีความสัมพันธ์กับธรรมทั้งหลาย)

                ใครเกิดปีใด เดือนใด ปีใด ก็เลือกสร้างหรือบูชา (เช่า) ธรรมคัมภีร์นั้น ๆ นำไปไว้ถวายวัด

กดปะกันเน้อกลับไปหน้าหลัก


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การฟื้นฟูอานิสงส์และภูมิปัญญาของไท-ยวน

อานิสงส์ประจำชีวิต

สำนวนไทย